• บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด
ยินดีให้คำปรึกษา โทร 02-686-1888  

การจัดตั้งองค์กร

เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินของประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM จึงถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้เสีย หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan : NPL) โดยรับโอนจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชี (Outstanding per book : OPB) ในขณะนั้นรวม 519,378 ล้านบาท ด้วยเงินทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25 ล้านบาท โดย มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ในปี 2544 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 (พรก. บสท.)

กำหนดให้ บสส.ต้องโอน NPL ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชี จำนวน 309,089 ล้านบาทให้แก่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 กองทุนฯ ได้มีมติให้ บสส. รับโอนกิจการของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด (บสพ.) โดยให้ บสพ. ขายลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แล้วโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันที่เหลือทั้งหมด ให้แก่ บสส. หลังจากนั้นนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา บสส. ได้ดำเนินการซื้อ NPL และทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets : NPA) จากสถาบันการเงินอื่นเพื่อมาบริหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประมูลซื้อ NPL และ NPA จาก บสท. ในปี 2555 เนื่องจาก บสท. ต้องปิดดำเนินการตามเวลาที่ พรก.บสท.กำหนดไว้ ต่อมา บสส. เริ่มเปิดที่ทำการสำนักงานสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2550 และทยอยเปิดสาขาเพื่อเป็นศูนย์บริการลูกค้าทุกภูมิภาคของประเทศ ในปี 2555 รวม 4 สาขา คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก

ในปี 2560 ธนาคารแแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงมีการจัดตั้ง “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” หรือเรียกว่า “คลินิกแก้หนี้” โดยตกลงร่วมกันแต่งตั้ง บสส. เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายให้ได้ข้อยุติในคราวเดียว ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง และบสส. ยังทำหน้าที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่ประชาชนอีกด้วย ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารแห่งประเทศจีน และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ปี 2543
บสส. จัดตั้งขึ้นเพื่อรับโอน NPL จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภาระหนี้ตามบัญชี 519,378 ล้านบาท
ปี 2544
บสส. โอน NPL ภาระหนี้ตามบัญชี 309,089 ล้านบาท ให้แก่ บรรษัท บริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)
ปี 2547
บสส.ควบรวมกิจการ และรับโอนสินทรัพย์จาก บริษัท บริหาร สินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด (บสพ.) ทำให้ยอดรวม NPL ส่วนของธนาคารกรุงไทย และบสพ. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 275,944 ล้านบาท
ปี 2549
เริ่มซื้อ NPL และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จากสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร
ปี 2550
เปิดที่ทำการสาขาแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่
ปี 2551
เปิดที่ทำการสาขาแห่งที่สองที่จังหวัดขอนแก่น
ปี 2552
เปิดที่ทำการสาขาแห่งที่สามที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปี 2555
เปิดที่ทำการสาขาแห่งที่สี่ที่จังหวัดพิษณุโลก และรับโอน NPL และ NPA คืนจาก บสท. เมื่อ บสท.ปิดตัวลงในปี 2554
ปี 2560
เปิดดำเนินการ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” หรือ “คลินิกแก้หนี้”